สิม : สถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีสาน
รศ.วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ
ศาสนาคารที่เกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนานั้น มีหลายประเภทตามลักษณะของประโยชน์ใช้สอย เช่น พระอุโบสถ หรือโบสถ์ ใช้ทำกิจกรรมของสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ใช้ทำกิจกรรมทั่วๆไป หอไตร ใช้เก็บคัมภีร์ทางศาสนา เป็นต้น ศาสนาคารเหล่านี้มีความสำคัญลดหลั่นกันไป ที่สำคัญมากน่าจะได้แก่พระอุโบสถ เพราะใช้เป็นที่ทำสัฆกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอุปสมบท
สิมวัดสนวนวารีพัฒนาราม
วัดบึงแก้ว สิม อีสาน
พระอุโบสถ มีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ปัจจุบันมีความสำคัญมาก เพราะเป็นอาคารประธานของวัด แทนสถูปเจดีย์ และวิหารที่เคยมีความสำคัญและเป็นประธานของวัดมาก่อน พระอุโบสถทั่วไป จะสร้างด้วยไม้หรือก่ออิฐถือปูน เป็นอาคารที่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าทางด้านหน้าและด้านหลัง ด้านข้างมีหน้าต่าง ภายในทำเป็นฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน
ในภาคอีสาน พระอุโบสถจะเรียกกันว่า “สิม” ซึ่งเป็นรูปของเสียงที่กร่อนมาจากคำว่า “สีมา” ซึ่งหมายถึงเขตหรืออาณาเขตที่กำหนดขึ้น เพื่อใช้ทำกิจกรรมในพระพุทธศาสนา
พระอุโบสถ หรือสิมอีสาน เป็รนอาคารขนาดเล็ก มีสัดส่วน ทรวดทรง การตกแต่งภายนอก ภายในเพื่อความสวยงาม การเลือกใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น ตลอดจนใช้โครงสร้าง มีลักษณะที่ค่อนข้างลงตัว คือ ทุกอย่างดูพอดี พอเหมาะ ไม่เล็ก ไม่ใหญ่เกินไป เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีสานที่มีรูปแบบเรียบง่าย หนักแน่น มีพลัง มีความสมถะ ส่อคุณลักษณะแห่งความจริงใจ อันเป็นคุณสมบัติเด่นของชาวอีสาน
สิมอีสานมี 3 ประเภท คือ คามสีมา สิมที่สร้างในชุมชน อัพภันตรสีมา สิมที่สร้างในป่า และอุทกกเขปสีมา สิมที่สร้างในน้ำ แต่ส่วนมากเป็นสิมที่สร้างในชุมชน ส่วนสิมที่สร้างในป่า และสร้างในน้ำมีน้อย
จังหวัดบุรีรัมย์ มีสิมเกือบทุกวัด แต่ปัจจุบันสิมที่มีอยู่ ได้ชำรุด หักพัง และรื้อทิ้งไปเป็นจำนวนมาก เพราะชุมชนหันมาสนใจค่านิยมสมัยใหม่ตามลัทธิส่วนกลางนิยม (Capitalism) คือ พึงพอใจรูปแบบของพระอุโบสถของส่วนกลาง และรังเกียจรูปแบบพระอุโบสถที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้เพราะขาดความเข้าใจคุณค่าและความหมายภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงปรากฏว่า วัดต่างๆได้รื้อสิม หรือพระฮุโบสถเก่า และสร้างพระอุโบสถใหม่ที่มีรูปแบบจากส่วนกลางขึ้นแทน
เรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้สติปัญญาพิจารณาเพื่อให้ประจักษ์ว่า สิ่งต่างๆที่ปู่ ย่า ตา ยาย คิดสร้างทำขึ้นไว้นั้น มีคุณค่า มีความหาย โดยเฉพาะอาคารในพระพุทธศาสนา ที่สร้างขึ้นจากความเลื่อมใสศัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในชุมชน ฉะนั้น สิ่งที่ได้สร้างไว้ ในอดีต เคยมีความสำคัญ แต่ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรตม ปรักหักพัง หน้าที่ของเราซึ่งเป็นลูกหลาน ควรที่จะต้องช่วยกันดูแลรักษา ให้ดำรงอยู่สืบต่อไปนานเท่านาน การรื้อสิมก็ดี ศาสนาคารอื่นๆก็ดี นอกจากจะทำลายหลักฐานประวัติศาสตร์ของชุมชนแล้ว ยังเป็นการทำร้ายจิตใจของ ปู ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษของเราอย่างหยาบคายอีกด้วย
วิถีชาวอีสานใน "ฮูปแต้ม"
'ฮูปแต้ม' คือคำที่ ใช้เรียกงานศิลปะจิตรกรรมฝาผนัง ที่ใช้ในการตกแต่ง 'สิม' หรือโบสถ์แบบอีสาน เป็นศิลปะที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมของคนอีสาน
ศิลปะที่บ่งบอกเรื่องราวความเป็นมาของสังคมแต่ละยุคสมัย
ฮูปแต้มบนผนังสิมเกิดมาจากภูมิปัญญา และฝีมือของช่างเขียนภาพฝาผนังพื้นเมืองอีสาน หรือ 'ช่างแต้ม' ที่สั่งสมการเรียนรู้มาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบ เทคนิคและการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งนอกจากบอกเล่าเรื่องราวทางศาสนา แล้วยังสามารถสะท้อนความคิดของช่างแต้มแต่ละคน ที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่บรรจุอยู่ในผลงานก็คือ ความศรัทธาและความตั้งใจของคนทำ ฮูปแต้มจึงเป็นสื่อสะท้อนความคิด ความสามารถ ภูมิรู้ และทรรศนะเกี่ยวกับความงามของช่างและชาวบ้าน และสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานที่บันทึกเรื่องราวในอดีตของชุมชน ซึ่งฮูปแต้มที่ปรากฏส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตของ คนอีสานในอดีตตลอดจนเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา